วันอาทิตย์ที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2553

อานิสงส์ ผู้นำบุญ ผู้ชักชวนให้ทำบุญ

ขึ้นชื่อว่า “บุญ” ย่อมมีทั้ง บุญทาน บุญศีล และบุญภาวนา ซึ่งมีอานิสงส์สูงขึ้นไปตามลำดับ การทำบุญเหล่านี้มีอานิสงส์เพียงใด ผู้นำบุญ ผู้ชักชวนให้ทำบุญ และทำด้วยตนเองด้วย เป็นเสมือนผู้ส่องทางสว่างให้แก่ตนเองและแก่ผู้อื่น ย่อมได้อานิสงส์เป็นทับทวี

อยากทำคนเดียว

มีหลายท่านค่อยๆ ทยอยมาบอกว่า “ต้องการสร้างพระประธานในโบสถ์ จะทำคนเดียว” คนนั้นก็มาบอกว่า “ขอทำคนเดียว” คนนี้มาก็บอก “ขอทำคนเดียว” แต่ก็ได้อธิบายไปกับบางท่านให้เข้าใจแล้วว่า สำหรับพระประธานนั้นมีเพียงองค์เดียวในอุโบสถ เพราะฉะนั้นเรามาเฉลี่ยบุญกันเถอะ ตั้งใจจะทำเท่าไรก็ทำเลย ไม่มีใครว่าอะไร

อีกประการหนึ่ง ไม่ได้ให้มุ่งหมายแต่เพียงองค์พระเท่านั้น ให้กินหมายรวมถึงฐานพระและสิ่งประกอบ เพราะฉะนั้น อย่าไปคิดเพียงว่า บุญจะต้องไปใหญ่อยู่ที่องค์พระ ถ้าไปคิดอยู่อย่างนั้นก็จะหงุดหงิดกัน ถ้าทำบุญแล้วมีความหงุดหงิดเข้า ก็จะเป็นกิเลส โดยเริ่มมาตั้งแต่จะขอ “ทำแต่เพียงผู้เดียว” นี่อย่างนี้ก็มี บางคนก็ยังใจกว้างหน่อยว่า “เออ คนอื่นจะทำด้วยก็ดี”

ผู้นำคนเนื่องจากผลผู้นำบุญ

ความจริงเรื่องของบุญนี่เป็นเรื่องใจกว้างนะ ต้องใจกว้าง ไม่ใช่ใจแคบ เพราะบุญเป็นเครื่องกำจัดกิเลส ใจจะได้ใส สภาพของใจมันใหญ่ตรงที่มันใสนะ

ความจริงแท้ๆ นี่ ถ้าจะนึกว่าทำบุญอะไร จะได้เป็นผู้นำคนก็คือ บุญที่เกิดจากการเป็นผู้นำบุญนั่นเอง คืออะไร คือ การบอกบุญ ชักนำคนอื่นเข้ามาในกองการกุศล มีทานกุศล ศีลกุศล ภาวนากุศล นี่แหละผลบุญจึงจะส่งให้เป็นผู้มีบริวารสมบัติ เมื่อมีบริวารสมบัติตัวเองก็จะเป็นผู้นำ

แต่ผู้ที่ร่วมอนุโมทนาบุญก็อย่าไปคิด อย่าน้อยใจว่า “เอ ! แล้วเราจะต้องไปกินน้ำใต้ศอกคนอื่นละกระมัง !” ไม่ใช่ ถ้าเรายังมีสติปัญญาความสามารถน้อยกว่าผู้อื่น ที่เขาเป็นผู้นำบุญ เราก็อนุโมทนาบุญ ร่วมบุญไปกับเขาได้ และในโอกาสเช่นนี้ ก็จะเป็นเหตุเป็นผลให้เรามีพลัง กลายเป็นผู้นำบุญต่อไปอีกได้ และได้พบกับผู้นำที่ดีด้วย เหมือนอะไร ? เหมือนว่าแต่เดิมเราก็เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่หรือข้าราชการชั้นตรี เมื่อมีคุณสมบัติเพียงพอเมื่อใด ก็เป็นชั้นโท แล้วก็ชั้นเอก แล้วก็ได้ตำแหน่งหัวหน้ากองเป็นหัวหน้าเขา และยังมีอธิบดีที่ดีเป็นผู้นำอีก

ถ้าเรารู้จักอนุโมทนาบุญที่ดี รู้จักเลือกผู้นำบุญที่ดี ก็จะได้ผู้นำที่ดี แล้วกำลังของเราก็จะสูงขึ้นๆ ไปตามลำดับ นี่คือลักษณะของบุญในทานกุศล จะให้ผลในอาการอย่างนี้

ดั่งกษัตริย์ไร้บัลลังก์

เพราะฉะนั้นจะไปกลัวใย ที่เราจะอนุโมทนาบุญคนอื่น และเราจะคิดแต่เพียงว่าจะตามคนอื่น ไยไม่คิดว่าจะนำคนอื่นบ้างละหรือ ? การเป็นผู้นำบุญนั่นแหละ บุญจะส่งให้เป็นผู้มีบริวารสมบัติ แล้วนั่นก็หมายถึงว่า การเป็นหัวหน้าหรือผู้นำ เป็นที่เคารพสักการบูชา หรือเป็นปูชนียบุคคลแก่ผู้อื่น ไม่ใช่มัวไปแย่งกันว่า “พระประธานนี้ ดิฉันอยากจะทำคนเดียว” มันจะกลายเป็นกิเลสเสียส่วนหนึ่งแล้ว บุญก็พลอยไม่สะอาดไปด้วย เอ้า ! ถ้าอยากจะสร้างพระประธาน ทำบุญลงไปเลย เสียสละลงไปเลย แม้เราอยากจะสร้างทั้งองค์ ก็ทำลงไปเลยทั้งองค์ ใครเขาจะมาร่วม ก็อนุโมทนาบุญกับเขา และลองถามตัวเองดูว่า “พระประธานไม่มีฐานตั้งอยู่ น่าดูไหม?” และ “มีแต่พระมีฐาน ไม่มีโบสถ์ อยู่ได้ไหม ?” นี่ขอให้คิดดูให้ดี

อุปมาว่า แม้เราจะอยากเป็นกษัตริย์ แต่ถ้าเราเป็นกษัตริย์ไร้บัลลังก์ จะเป็นอย่างไรบ้าง? ถ้าเป็นกษัตริย์มีบัลลังก์ มีประเทศอยู่ แต่ไม่มีปราสาทราชวัง จะอยู่ได้ไหม ?

หรือ ถ้าเป็นกษัตริย์มีบัลลังก์ มีปราสาทราชวัง มีประเทศอยู่ แต่ไม่มีบริวาร ไม่มีพลเมืองที่ซื่อสัตย์จงรักภักดี จะอยู่ได้ไหม ?

เห็นไหมล่ะ เพราะฉะนั้น บุญที่เราจะได้ทำนี่ ได้บุญรวมกันไปหมดเลย ดังนั้นเราจึงควรมาคิดช่วยกันสร้างโบสถ์ก่อนโดยเป็นทั้งผู้นำบุญ ชักชวนผู้อื่นให้มาร่วมบุญ ก็จะได้อานิสงส์คือ บริวารสมบัติ เหมือนกับว่า มีพื้นดิน มีประเทศ มีพลเมือง นี่อุปมานะ เป็นบริวารสมบัติ แล้วเราค่อยมาสร้างพระประธาน พร้อมด้วยรัตนบัลลังก์ด้วยกัน พอถึงตอนนั้นก็กลายเป็นของเล็กน้อยแล้ว ก็เพียง ๑ ล้านบาทเศษเท่านั้นนี่ เพราะบางทีเพียงเจ้าภาพ ๒-๓ เจ้าก็ครบแล้ว เพราะฉะนั้นเราต้องสร้างหมดทั้งประเทศนะ เหมือนใคร ? ก็เหมือนต้นๆ ตระกูลของพระพุทธเจ้าของเรานะซิ

ก่อนเป็นศากยวงศ์

ต้นตระกูลศากยวงศ์ ท่านทราบไหมว่า มีความเป็นมาอย่างไร เริ่มแต่สมัยก่อนพุทธกาลเป็นเวลาย้อนหลังไปนาน มีพระเจ้าโอกกากราชและมเหสีที่มีพระราชโอรส ๔ พระราชธิดา ๕ รวมเป็น ๙ พระองค์ ต่อมาพระมเหสีองค์นั้นก็เสด็จทิวงคต ท่านก็มีมเหสีใหม่ แต่ต่อมาก็ประสูติราชโอรส ๑ องค์ มเหสีใหม่ก็อยากจะให้ลูกของตนเองเป็นใหญ่ เมื่อเวลาเหมาะก็ทูลขอพรจากพระเจ้าโอกกากราช ซึ่งพระองค์ก็ลั่นพระวาจาไปว่า จะขออะไรก็จะให้ ทั้งนี้ก็ด้วยรักในพระมเหสีและราชโอรส พระนางจึงทูลทันทีว่า ขอราชบัลลังก์ให้โอรสของตน เลยจบกัน โอรสองค์ใหญ่เลยไม่ได้ราชสมบัติ ด้วยพระเจ้าโอกกากราชได้ทรงพลั้งพระโอษฐ์ไปแล้ว เลยจำต้องให้ราชโอรสราชธิดาทั้ง ๙ องค์ไปสร้างเมืองขึ้นใหม่ ซึ่งอยู่ในเขตสักกชนบท อันเป็นส่วนเหนือของชมพูทวีป ทั้ง ๙ พระองค์พร้อมด้วยอำมาตย์ ๘ คนและข้าราชบริพาร ก็ไปก่อตั้งเมืองขึ้นโดยคำแนะนำของท่านกบิลดาบส เมื่อสร้างเสร็จก็ได้ชื่อว่า “นครกบิลพัสดุ์”

ในสมัยนั้นพวกกษัตริย์ถือเอาความบริสุทธิ์ในการสืบสายเลือด ดังนั้นพระราชโอรสกับราชธิดาทั้ง ๘ องค์ ยกเว้นพระธิดาองค์ใหญ่ ก็ได้มีงานพิธีวิวาหมงคลขึ้นเป็น ๔ คู่ แล้วจึงได้ตั้งวงศ์ขึ้นเป็น “ศากยวงศ์” นี่คือวงศ์ต้นๆ ของพระพุทธเจ้า หลังจากนั้นไม่นานพระเชษฐภคินี คือพระธิดาองค์ใหญ่เกิดมีความรักกับเจ้าครองนครเทวทหะ ก็ได้มีการอภิเษกสมรสไปตั้งวงศ์ใหม่ ชื่อ “โกลิยวงศ์” ต่อแต่นั้นมา ๒ วงศ์นี้ก็มีการแต่งงานกันมาตลอด เพื่อรักษาวงศ์อันบริสุทธิ์ไว้ จนมาถึงพระเจ้าสุทโธทนะ และเจ้าชายสิทธัตถะซึ่งมีพระนางพิมพายโสธราเป็นมเหสีอย่างนี้เป็นต้น นี่ก็เป็นตัวอย่างว่า เขาได้พากันสร้างกันทั้งเมืองเลยนะ บุญที่ส่งให้สามารถทำได้เช่นนั้นก็คือ บุญที่เกิดจากทานกุศล ซึ่งได้ทำไว้ทุกสิ่งทุกอย่างประกอบกันขึ้น อย่างเช่นพวกเราช่วยกันสร้างสถาบันฯ สร้างโบสถ์ และจึงไปสร้างพระประธาน นี่แหละที่สร้างกันได้อย่างนั้นก็ด้วยอานิสงส์ทำนองนี้

บุญตามให้ผล

ตามเรื่องราวในพระไตรปิฎกบางตอนก็แสดงได้ว่า แม้เพียงถือศีล ๘ แล้วตั้งจิตอธิษฐาน อยากจะเกิดเป็นพระราชโอรสพระราชธิดาของพระเจ้าแผ่นดิน เมื่อแตกกายทำลายขันธ์แล้ว ก็ได้ไปบังเกิดตามนั้นเหมือนกัน จะเห็นว่าเรื่องบุญนี่ เมื่อจิตใจสะอาดแล้วอธิษฐานไปด้วยดีแล้วนี้ บุญย่อมส่งผลให้ได้ หรือหากแม้ไม่ได้อธิษฐาน บุญก็ย่อมทำหน้าที่เองให้ผลเอง อย่าได้สงสัยเลย เท่าที่ได้เล่ามานี้ ก็เพื่อให้ท่านทั้งหลายได้มีจิตใจที่กล้าหาญ รื่นเริงที่จะประกอบการบุญการกุศลที่ดีทุกอย่าง โดยไม่เฉพาะเจาะจง แต่ให้รู้จักเขตหรือเนื้อนาบุญที่อุดมแก่การสร้างบุญสร้างกุศล ดั่งพันธุ์พืชที่ดี บรรยากาศที่ดี มีการดูแล ประคบประหงมที่ดี ทั้งทาน ศีล ภาวนา ลงท้ายก็คือการอบรมจิต ดำเนินไปตามแนวนี้แล้ว ก็จะมีแต่ความสุขแต่ฝ่ายเดียว.

อานิสงส์ผู้นำคน เนื่องจากผลผู้นำบุญ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น